" เรากำลังเข้าสู่โลกที่จำนวนประชากรผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่าจำนวนประชากรเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี "
และภายในปี 2050 มีการประมาณว่าโลกเรากำลังจะมีจำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์มากกว่า 130 ล้านคน.....
สวัสดีครับ วันนี้ไคโกะซังกำลังจะพาทุกคนไปรู้จักกับอีกหนึ่งโรคร้ายชนิดหนึ่งที่พบได้มากในผู้สูงวัย
แต่ก่อนอื่นเลยไคโกะขอนำเสนอข้อมูลคร่าวๆของโรคอัลไซเมอร์นี้ก่อน
- รู้หรือไม่ว่า โรคอัลไซเมอร์พบมากในผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเมื่ออายุสูงมากขึ้น
ก็พบอัตราส่วนของผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น
- รู้หรือไม่ว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สามารถมีอายุได้ตั้งแต่ไม่ปีจนไปถึงสิบกว่าปี
- รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันเชื่อว่า พันธุกรรม และอายุที่มากขึ้น คือสาเหตุหลักที่นำไปสู่โรคอัลไซเมอร์
- ในทุกๆ 68 วินาที จะมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น 1 คนบนโลกนี้
- รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลกมีจำนวนไม่น้อยกว่า 50 ล้านคน
- รู้หรือไม่ว่า โรคอัลไซเมอร์คือสาเหตุหลักที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ในผู้สูงอายุ
เป็นระยะเวลากว่าทศวรรธที่โลกได้ค้นพบโรคอัลไซเมอร์ และแม้ว่าเทคโนโลยีเราจะก้าวหน้าไปเพียงใด แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถคิดค้นยาหรือวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้
หลายท่านอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า ในเมื่อเรายังไม่สามารถคิดค้นวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ และก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ในอนาคต มันน่าจะมีวิธีการ ที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ได้
ใช่ครับเรามีวิธีการที่สามารถป้องกันลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งในท้ายบทความนี้จะเฉลยให้ทุกท่านทราบว่าเรามีวิธีอะไรบ้างที่สามารถป้องกันความเสี่ยงได้
แต่ก่อนอื่นผมอยากให้ท่านผู้อ่านมาลองทำความรู้จักโรคอัลไซเมอร์สักเล็กน้อย และอาการโดยทั่วไปของมัน
โรคอัลไซเมอร์ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1906 โดย Dr. Alois Alzheimer จากคนไข้ผู้หญิง Auguste Deter ซึ่งมีความบกพร่องในความจำ แม้แต่เรื่องพื้นฐานในชีวิต เธอก็ไม่สามารถจำได้
น่าเสียดายที่วิทยาการแพทย์สมัยนั้น ไม่สามารถทำอะไรได้ ทำให้สุดท้ายเธอก็เสียชีวิตลง ...
หลังจากที่เธอเสียชีวิตลง คุณหมอท่านนี้ได้ทำการศึกษาสมองของผู้ตายและได้ค้นพบความผิดปกติของโปรตีนบางอย่างในสมอง ได้แก่ Neurofibrillary Tangles (NTFs) และ Amyloid Plaques
ซึ่งต่อมานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สิ่งนี้คือลักษณะเฉพาะของสมองในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และมีมากอย่างผิดปกติในสมองของผู้ป่วยกลุ่มนี้ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมองหดตัวลง (Brain Shrinkage) จนนำไปสู่การเสื่อมถอยของ ความจำ, ความสามารถในการสื่อสาร, การคิดวิเคราะห์ รวมถึงการทำกิจวัตรประจำวัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า Auguste Deter สามารถนั่งไทม์แมชชีนเดินทางข้ามเวลามายังโลกในยุคปัจจุบัน แต่โรคของเธอก็ไม่สามารถรักษาได้ แทบไม่มีอะไรแตกต่างอะไรจากยุคที่เธอเดินทางมา
เป็นเวลากว่าทศวรรธที่โลกได้ค้นพบอัลไซเมอร์ แต่ด้วยวิทยาการปัจจุบัน เราแทบไม่มีอะไรที่สามารถรักษาโรคนี้ได้ ยาที่คิดค้นขึ้น ไม่สามารถรักษาอาการของ Auguste Deter
เรารู้อะไรเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์บ้าง ?
- โรคอัลไซเมอร์เป็น Progressive disease ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และอาการจะแย่ลงเรื่อยๆ อัลไซเมอร์ในระยะต้นคือผู้ป่วยจะสูญเสียความทรงจำระยะสั้น ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นได้ จนถึงขั้นสุดท้าย ไม่สามารถจำคนรักหรือคนในครอบครัวได้
- อาการของโรคจะเริ่มรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยเริ่มจะมีปัญหาในการโฟกัสสิ่งรอบตัว, มีอาการสับสน หงุดหงิดง่าย, อารมณ์จะไม่นิ่ง (Mood swing) เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง, อารมณ์เสียง่าย มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล เริ่มหลงทาง จำทางกลับบ้านไม่ได้ เดินทางออกจากบ้านไปโดยไม่มีจุดหมาย และ เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำกิจวัตรประจำปกติไม่ได้ เช่นชงกาแฟไม่ได้ ใช้โทรศัพท์มือถือไม่ได้ เริ่มมีปัญหาในการสื่อสารกับคนรอบข้าง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง
- โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนจะเป็นโรคอัลไซเมอร์
- สาเหตุหลักที่ของโรคอัลไซเมอร์ เกิดจากโปรตีนที่ชื่อว่า Amyloid Plaques และ Neurofibrillary Tangle
ในสมองคนเราจะประกอบไปด้วยเซล์ประสาทที่เรียกว่า นิวรอน (Neuron) จำนวนไม่น้อยกว่า 86 พันล้านเซลล์ ซึ่งเวลานิวรอนสื่อสารกัน จะสื่อสารกันผ่านที่ว่างเล็กๆที่เรียกว่า ไซแนปส์ (Synapse) และไซแนปส์นี่เองคือจุดที่ทำให้เกิดวามรู้สึก การคิด การตัดสินใจ การจำ และไซแนปส์นี้เองคือจุดที่เกิดอัลไซเมอร์
เวลาที่นิวรอนสื่อสารกัน จะปล่อยผ่านนิวโรทรานสมิตเตอร์หรือสารสื่อประสาทซึ่งในระหว่างนั้นนิวรอนจะมีการปล่อยเปปไทด์เล็กๆที่เรียกว่า Amyloid beta ในสมองปกติ amyloid beta จะถูกกำจัดทิ้ง โดยไมโครเกลีย แต่ไซแนปส์ของสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ amyloid beta กลับมีจำนวนมากผิดปกติ และไม่สามารถกำจัดได้หมด เกิดการสะสมตัวกันจนกลายเป็น Amyloid Plaques
เมื่อ Amyloid Plaques สะสมตัวมากขึ้นจนถึงจุด Tipping point จะ trigger ให้ โปรตีน Tau สะสมตัวมากขึ้นและพันกันเป็นเกลียวจนกลายเป็น Tangles หรือที่เรียกว่า Neurofibrillary Tangles
โปรตีนทั้งสองตัวนี้จะเข้าไปขัดขวางการสื่อสารของนิวรอน และทำให้นิวรอนตาย เมื่อจำนวนนิวรอนตายมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้สมองเริ่มหดตัว
และจุดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการจำ (Memory loss )
การสื่อสาร การตัดสินใจ (Imparied decision making) และเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์...
- มีการศึกษาหลายทฤษฎีว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ บางคนเชื่อว่า การมีความดันสูง (High Bloood Pressure) และคอเลสเตอรอลสูง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่ในปัจจุบันเชื่อว่าปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทื่สุดก็คือ พันธุกรรม และ อายุที่มากขึ้นในวัยสูงวัย
- ในครอบครัวที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มีโอกาสเสี่ยงที่ลูกหลานจะมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ โดยเชื่อว่าการมีโปรตีน APOE4 คือปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคอัลไซเมอร์
- โรคอัลไซเมอร์เริ่มพบในผู้สูงสัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมากกว่าผู้ชาย
- ผู้ป่วยอัลไซเมอร์สามารถมีอายุต่อไปอีกได้ประมาณ 4-8 ปี แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่สามารถมีอายุได้ถึง 20 ปี
- ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาอัลไซเมอร์ได้ แต่เราสามารถลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้
มีวิธีไหนบ้างที่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ?
- นอนหลับให้เพียงพอ - มีงานวิจัยเชื่อว่าถ้าร่างกายเราได้นอนหลับอย่างเต็มที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่เราหลับลึก (Deep Sleep) ในช่วงเวลาที่เราหลับลึกสมองจะช่วยลดระดับของ Beta Amyloid และ Tau สองโปรตีนตัวสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ พูดง่ายๆว่า การนอนหลับลึกที่ดี (Good Deep Slepp) มีปัจจัยบวกในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ และการนอนหลับไม่เพียงพอ (lack of deep sleep) มีผลทำให้เกิดการสะสม Beta Amyloid มากขึ้น
- สุขภาพ,ออกกำลังกาย, อาหาร - สุขภาพของหัวใจ (Cardiovascular health) , ควมดันสูง (High Blood Pressure) , โรคเบาหวาน (Diabetes) , โรคอ้วน (Obesity) , คอเลสเตอรอลสูง, การสูบบุหรี่ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ การออกกำลังกาย, รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ผักผลไม้, Whole Grain, อาหารที่มีไขมันต่ำ หรืออาหารประเภท mediterranean diet ซึ่งเน้นการกินผัก ปลา ผลไม้ ธัญพืชเป็นหลัก
- Cognitive Reserve - หลายคนคงตั้งคำถามว่า แล้วถ้าในช่วงชีวิตที่ผ่านมา เราไม่ได้มี healthy lifestyle ชอบกินเบคอน อาหารที่มีไขมันสูง , ไม่ชอบออกกำลังกาย ชอบออกไปดื่มสังสรรค์กับเพื่อนเป็นประจำ
และตอนนี้อายุย่าง 40-50 ปีแล้ว พอจะมีวิธีอะไรไหมที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ ?
มีงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาสมองของแม่ชีที่อายุมากกว่า 75 ปี จำนวน 678 คน เป็นเวลากว่า 20 ปี มีการตรวจร่างกายเป็นประจำรวมถึง Cognitive test และเมื่อเสียชีวิตได้มีการศึกษาสมองและพบว่า ถึงแม้ว่าสภาพสมองของแม่ชีเหล่านั้น แทบจะไม่แตกต่างจากสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ แต่แม่ชี่เหล่านั้นกลับไม่แสดงอาการของโรคอัลไซเมอร์ในตอนที่มีชิวีตอยู่
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? เราพบว่าเหตุผลที่ทำให้ไม่แสดงอาการของโรคอัลไซเมอร์ เป็นเพราะในสมองของแม่ชี มี Cognitive reserve ปริมาณมาก และ Cognitive reserve นี้เองแหละที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
แล้วเราจะเพิ่มปริมาณ Cognitive Reserve ยังไงล่ะ ?
เราสามารถเพิ่มปริมาณ Cognitive Reserve ได้จากการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ศึกษาสิ่งใหม่ๆ เริ่มทำกิจกรรมใหม่ๆที่ไม่เคยทำมาก่อน ลองออกจากบ้านเจอผู้คนใหม่ๆ อ่านหนังสือ เรียนรู้ภาษาใหม่ๆ กิจกรรมเหล่านี้คือสิ่งที่เสริมสร้าง Cognitive Reserve ในสมองเรา
ในทางกลับกันการทำอะไรเดิมๆ ไม่พยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะไม่ช่วยเสริมสร้าง Cognitive Reserve ใน สมอง
ถึงแม้ว่าโรคอัลไซเมอร์จะเป็นโรคที่น่ากลัว และไม่มียาที่รักษาให้หายขาดได้ ยิ่งในปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยซึ่งแน่นอนว่า อัตราการเกิดโรคอัลไซเมอร์ย่อมสูงขึ้น
แต่เราก็สามารถลดความเสี่ยงในการที่จะเกิดโรคได้ โดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, รับประทานอาหารที่ดีสุขภาพ ปลา ผัก ผลไม้ อาหารที่มีไขมันต่ำ
และที่สำคัญที่สุดพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆ ออกไปข้างนอกพบเจอคนใหม่ๆ เท่านี้ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
Reference
1. Alzheimer’s Disease Statistics
2. Understanding Alzheimer's Disease: the Basics
3. What Happens to the Brain in Alzheimer's Disease?
4. รู้หรือไม่ทุกๆ 68 วินาที มีผู้ป่วยอัลไซเมอร์เพิ่ม 1 คน
5. อัลไซเมอร์ รู้จักและเข้าใจกับชีวิตที่ไม่ง่ายของคนใกล้ตัว
6.เข้าใจอัลไซเมอร์ เมื่อสมองเสื่อมไม่ใช่แค่เรื่องความจำ
7. A Rare Success against Alzheimer's
8. Deep Sleep Protects Against Alzheimer's, Growing Evidence Shows
9. What is cognitive reserve?
10. How Sleep Clears the Brain
11. What Causes Alzheimer's Disease?
12.What you can do to prevent Alzheimer's | Lisa Genova